ผังเมืองดี ชีวิตดี พังงาแห่งความสุข พอกันทีการพัฒนาแบบคิดแทนกัน

นี่คือเรื่องราวของพลเมืองพังงา กับภารกิจเปลี่ยนเมืองครั้งใหญ่

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2560 ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ‘หากผู้คนไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและปัจจัยการผลิต ก็ไม่อาจดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข’ กอปรกับทิศทางพัฒนาของจังหวัดพังงา ณ ขณะหนึ่ง ถูกมุ่งหมายให้ไปสู่การเป็นเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน จึงเป็นที่น่าหวั่นใจของชาวเมืองว่า หากการท่องเที่ยวคือหัวใจหลักของการเคลื่อนจังหวัดเพียงอย่างเดียว ผู้คนส่วนใหญ่ที่ดำรงอยู่กับการทำเกษตรแบบเดิมจะได้รับอานิสงส์อะไรจากการพัฒนาเช่นนี้ ซ้ำร้าย อาจกลับกลายเป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากมือของเกษตรกร เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวที่อยู่ในมือของนายทุนรายใหญ่เท่านั้น

แนวคิดของการทำ ‘แผนพัฒนาเมือง’ จึงเริ่มขึ้น ผ่านวงสนทนาที่ประกอบไปด้วย ประชาชน ประชาสังคม เอกชน และภาครัฐ เพื่อกำหนดทิศทางและเส้นแบ่งระหว่างการพัฒนาที่ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเติบโตของจังหวัด เป้าหมายปลายทางคือ ‘เมืองแห่งความสุข’ ที่ยืนอยู่บนความมั่นคงของชีวิต ความเป็นอยู่ และทรัพยากรที่ไม่ถูกล้างผลาญโดยเงามืดที่มองไม่เห็น

ผู้นำแห่งอนาคตชวน ไมตรี จงไกรจักร์, สุทธิโชค ทองชุมนุม และ ชาตรี มูลสาร ตัวแทนจากภาคเอกชนและประชาสังคมจังหวัดพังงา มาพูดคุยถึงรายทางการทำงาน ความตั้งใจ วิธีการ เครื่องมือในการผสานเครือข่ายและผังเมืองเช่นไรที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังการพัฒนา

พังงาแห่งความสุข

“ถ้าเราไม่ทำเรื่องผังเมือง การพัฒนาพังงาต่อจากนี้จะเดินต่อยาก”

‘แผนพัฒนาเมือง’ ต่อเนื่องมาจากโปรเจ็คต์ใหญ่ที่ชื่อว่า พังงาแห่งความสุข ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 8-9 ปีก่อน เริ่มจากประชาสังคมพังงาที่มองว่า ทิศทางของพังงากำลังดำเนินไปโดยไร้ชีวิตของพลเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง พูดให้ง่ายกว่านั้น คือพวกเขาอยากวางแผนชีวิตตัวเองได้ก่อนจะเขยิบขั้นไปวางผังเมือง

ชาตรี มูลสาร เลขาสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข สุภาพสตรีผู้คลุกคลีกับการทำงานภาคประชาสังคมมายาวนาน เล่าให้เราฟังถึงปัญหาที่คนพังงากำลังเผชิญ และเหตุผลของการลุกขึ้นมาผลักดันโปรเจ็คต์นี้

“ปัญหาของพังงา คือทุกอย่างถูกกำหนดโดยกลุ่มนายทุนใหญ่และภาครัฐ ตั้งแต่เรื่องที่ดิน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่คนพังงาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่คนที่อื่นกลับมาออกแบบแทนเราว่า ที่ดินผืนนี้ต้องใช้ทำสิ่งนี้นะ ทรัพยากรส่วนนี้ต้องถูกแปลงสภาพไปเป็นแบบนี้นะ”

การเกิดขึ้นของพังงาแห่งความสุข คือการเสริมความแข็งแรงของชุมชนในระดับฐานราก โดยมีหัวใจคือการดึงศักยภาพของคนในพื้นที่น้อยใหญ่ให้แข็งแรง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตนโดยอาศัยต้นทุนทางทรัพยากรที่มีอยู่

“การที่เราถูกกำหนดโดยคนนอกที่ไม่เข้าใจ มันสร้างปัญหาเรื้อรังหมักหมมมานาน ชาวบ้านเดือดร้อนที่ไม่สามารถออกแบบหรือพัฒนาบ้านของตัวเองได้ เราคิดนอกกรอบไม่ได้เลย”

เป้าหมายใหญ่ของพังงา คือการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และความมั่นคงในทรัพยากรของคนทั้งจังหวัด ไม่ว่าจะเมืองใหญ่หรือในหมู่บ้านห่างไกล นั่นทำให้การเดินทางของโปรเจ็คต์นี้มีชุมชนร่วมด้วยถึง 51 ชุมชน วิธีการเริ่มจากค้นหาแง่งามอันเป็นต้นทุนที่พวกเขามี และขัดเกลาแง่งามเหล่านั้นให้เป็นภาพประจักษ์

“การสร้างเมืองแห่งความสุขของพังงา เหมือนกับป่าล้อมเมืองนะ” ชาตรีว่า

การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถสร้างขึ้นได้อย่างเร็ววัน นั่นทำให้ ‘ความสุขที่เป็นรูปธรรม’ ต้องขยายไอเดียไปเรื่อยๆ จากพื้นที่หนึ่ง ไปยังพื้นที่หนึ่ง นับจากวันที่พวกเขาเริ่มต้นจวบจนปัจจุบัน ชุมชนที่สร้างความสุขที่จับต้องได้บนฐานต้นทุนของชุมชนนั้น มีตัวอย่างให้ศึกษาหลายกรณี โดยชาตรีได้ไล่เลียงให้ฟังว่า

หนึ่ง ชุมชนรมณีย์ที่พังงา ความสุขของรมณีย์คือเมืองที่ไม่มีหนี้สิน เมืองที่ชาวบ้านมีสวัสดิการที่เข้มเเข็ง ปัญหาหนี้สินนอกระบบที่เคยเรื้อรังในพื้นที่ก็ถูกแก้ไข และมีอำนาจต่อรองเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ไม่มีการขูดรีดจากพ่อค้าคนกลางในเรื่องพืชผลการเกษตร

สอง เกาะยาวน้อย คือการดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายใต้วิถีมุสลิม การจัดการท่องเที่ยวโดยการกำหนดผังพัฒนาเกาะโดยคนในชุมชนบนวิถีที่เคยเป็นมา กระทั่งว่า ลูกหลานที่เรียนจบมาจากเมืองใหญ่ สามารถกลับมาทำงานที่บ้านได้ และยังสามารถปกป้องทรัพยากรจากการรุกคืบของทุนใหญ่ได้

สาม บ้านทับตะวัน วิถีมอแกลนกับการกำหนดชุมชนของตนเองผ่านวิถีวัฒนธรรม จากอดีตของการเป็นผู้บุกเบิกชุมชน กลับกลายป็นผู้บุกรุก นำไปสู่การถูกไล่รื้อบ้านและต้องต่อสู้เพื่อที่ดินทำกิน วันนี้พวกเขาสามารถสร้างโมเดลเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับพี่น้องชาติพันธุ์ในที่อื่นๆ ของประเทศได้

สี่ บ้านน้ำเค็ม ทำเรื่องการจัดการภัยพิบัติในชุมชนจากประสบการณ์สึนามิ พวกเขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนเมืองและฟื้นชีวิตของคนในชุมชนจากการสูญเสียครั้งนั้นได้ มันมาจากความเจ็บปวดของคนจริงๆ อีกทั้งภัยพิบัติครั้งนั้นได้สร้างคนทำงาน สร้างจิตอาสามากมาย เป็นการจัดการภัยพิบัติที่ได้รับการยอมรับระดับโลก

นี่คือเรื่องราวโดยคร่าวของ ‘พังงาแห่งความสุข’ ซึ่งต่อจากนี้ ไมตรี จงไกรจักร ได้พาเราไปคลี่ภาพของ ‘แผนพัฒนาเมือง’ โปรเจ็คต์ต่อเนื่องจากเรื่องราวข้างต้น

“เป้าหมายของเราคือความสุขของคนพังงา ถ้าไม่แก้เรื่องผังเมือง เราไปต่อให้ไกลกว่านี้ได้ยาก”

ออกแบบเมืองฉบับพังงาโมเดล

“ถ้าเราไม่จัดการเรื่องผังเมือง เราจะไม่มีแผนแม่บทใดๆ ที่จะต่อสู้หรือปกป้องจังหวัดของเราได้เลย แต่หากเราออกแบบผังเมืองใหม่ จะช่วยให้คนเห็นภาพเมืองของตนชัดเจนว่าอนาคตเมืองของเขาจะเป็นแบบไหน ชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาที่กระจายตัวอย่างไร”

ไมตรี จงไกรจักร์นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุขเล่าอีกว่า พังงาคือจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรมากมาย ไม่ว่าจะป่าไม้ ดิน แร่ธาตุ ทะเล ไปจนถึงฐานวัฒนธรรมที่แข็งแรงในแต่ละพื้นที่ เหตุนี้ทำให้พังงาเป็นที่หมายตาของกลุ่มทุนและภาครัฐ ในการสรรค์สร้างเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เมืองที่ไมตรีและคนพังงามองว่า เป็นการพัฒนาที่นอกจากชาวบ้านไม่มี ‘ส่วนได้’ แล้ว ยังรับมาแต่เพียง ‘ส่วนเสีย’ เท่านั้น

“พังงามีแนวโน้มของการแย่งชิงทรัพยากรเป็นอย่างมาก อีกทั้งการพัฒนาต่างๆ ถูกกำหนดจากรัฐส่วนกลางเสียมาก ซึ่งอาจทำให้พังงาของเราเป็นเหมือนภูเก็ต กลายเป็นเมืองแออัด มีการก่อสร้างจากกลุ่มทุนมากมาย และอาจมีนโยบายต่างๆ ตามมา เช่นการสร้างเขื่อน ฝาย สนามบิน เราเลยมาคิดกันว่า ต้องออกแบบการพัฒนาเมืองโดยคนพังงาเอง”

‘แผนพัฒนาเมือง’ จึงประกอบร่างจากสุ้มเสียงของคนพังงา โดยเริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่า ‘ถ้าอยากรู้ว่าคนพังงาต้องการผังเมืองเช่นไร ก็ต้องไปสอบถามจากคนพังงาทุกอำเภอ’

“กระบวนการจัดเวทีฟังความคิดเห็นของคนทุกอำเภอว่าต้องการเห็นเมืองและอำเภอของตัวเองเป็นแบบไหน ชาวบ้านก็ออกไอเดียกันมา เช่นที่อำเภอกะปง เขาอยากจะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร อำเภอคุระบุรี อยากเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตะกั่วป่าอยากเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อำเภอท้ายเหมืองเป็นเมืองท่าการท่องเที่ยวทางทะเล โคกกลอยเป็นศูนย์กลางคมนาคม เขาก็ออกแบบเมืองตามศักยภาพพื้นที่ของตัวเอง”

แผนพัฒนาเมือง ครอบคลุมอยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือ หนึ่ง โครงการของเมือง และ สอง โครงการสร้างสังคม ซึ่งแยกย่อยออกเป็นเรื่องโครงสร้างระบบคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องโครงสร้างการอนุรักษ์ทรัพยากร

เหล่านี้คือข้อคิดเห็นจากประชาชนทั้งจังหวัดที่สมาคมพังงาแห่งความสุขได้ลงพื้นที่ค้นหาความต้องการ จนเกิดเป็นการออกแบบผังเมืองที่ไมตรีบอกว่า แผนนี้ไม่ได้พูดถึงเพียงโครงสร้างของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงโครงสร้างทางสังคมด้วย

ผังเมืองของคนเกาะยาวน้อย

เกาะยาวน้อยคือทำเลทอง ด้วยภูมิศาสตร์ทางทะเลอยู่ระหว่าง 3 จังหวัดท่องเที่ยวคือ พังงา ภูเก็ต กระบี่ นั่นทำให้ชื่อของเกาะยาวน้อยได้รับความสนใจจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของความงามของพื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติมากล้น

เมื่อไม่นานมานี้ คนบนเกาะยาวน้อยรับรู้ถึงการมาของนโยบายพัฒนา 3 เรื่องคือ หนึ่ง การสร้างสะพานข้ามทะเล สอง การสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ และ สาม การไม่จำกัดการสร้างโรงแรมบนเกาะ

สิ่งที่กำลังจะเข้ามา สร้างความหวั่นใจเป็นอย่างมากให้กับคนเกาะยาวน้อย และนั่นทำให้พวกเขาเริ่มต้นจับเข่าคุยกัน

“จากการที่ประชาสังคมและชุมชนในเกาะยาวน้อยทำเรื่ององค์กรชุมชนอยู่แล้ว จึงได้ชวนกันมาออกแบบว่า เกาะยาวน้อยนั้นมีศักยภาพแค่ไหน แล้วคนเกาะยาวน้อยได้ประโยชน์จากศักยภาพของพื้นที่อย่างไร มานั่งวิเคราะห์กันว่า ถ้าเกิดสะพานข้ามทะเล ท่าเรือเฟอร์รี่ หรือโรงแรมขนาดใหญ่เข้ามา คนเกาะยาวน้อยจะได้หรือจะเสียอะไรบ้าง” ไมตรีเล่า และเราถามต่อ – ชุมชนได้หรือเสียอะไรบ้าง?

“ถ้าได้สะพานข้ามทะเลมาที่เกาะ หนึ่ง คนก็จะขับรถมาแทน มาวนเที่ยวที่เกาะแทบไม่ต้องนอนค้าง การท่องเที่ยวที่เคยมีคนมาพักตามโฮมสเตย์ของชาวบ้านก็จะไม่มี แถมเกาะยาวน้อยเล็กนิดเดียว เขาแทบไม่ต้องลงจากรถ และเขาจะคิดว่าไม่ได้น่าเที่ยวอะไร ทั้งๆ ที่หากคุณมาใช้เวลาอยู่อย่างจริงจัง คุณจะได้พบได้เห็นอะไรมากมาย

“สอง รถในเกาะยาวน้อยจะเยอะขึ้น ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุก็จะตามมา สาม จะมีคนแปลกหน้าเข้ามาง่ายมาก แล้วปัญหาอื่นๆ ก็จะตามมา เช่น ยาเสพติด โจรลักเล็กขโมยน้อย อาชญากรรมต่างๆ ที่คนในพื้นที่เขาวิเคราะห์กันว่าจะเกิดขึ้นถ้าได้สะพานมา

“ต่อมาคือท่าเรือเฟอร์รี่ ผลก็ไม่ต่างกัน คนจะเอารถเข้ามาขับแล้วกลับไป และถ้ามีการสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ทั่วเกาะ แน่นอนว่าคนเกาะยาวน้อยจะต้องสูญเสียที่ดิน ในอดีต ผู้ว่าฯ คนหนึ่งของจังหวัดเคยพูดว่า ‘อยากให้คนเกาะยาวน้อยขายที่ได้ราคาแพง อยากให้มูลค่าของที่ดินสูงขึ้น’ แสดงว่าคนเกาะยาวน้อยอาจจะสูญเสียที่ดินไปหมดแล้วกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่แออัดไม่ต่างจากเกาะสมุย คนที่นี่จึงรู้สึกว่า เขาจะสูญเสียความเป็นวิถีวัฒนธรรมชุมชนไป เขาจึงไม่อยากให้โรงแรมขนาดใหญ่สร้างขึ้นมา”

จากตัวอย่างที่ยกมา ไมตรีมองภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า “ชาวบ้านจะไม่ได้อะไรเลย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกของชุมชนจึงเป็นการกำหนดแผนพัฒนาผ่านการจัดทำผังเมือง เพื่อที่ชุมชนจะสามารถเห็นภาพรวมของศักยภาพพื้นที่เกาะยาวน้อยร่วมกัน

“คนเกาะยาวน้อยมองว่า ควรกำหนดการพัฒนาเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้รุกคืบได้ง่ายๆ จึงออกแบบกติกาชุมชน ออกแบบผังการพัฒนาว่าเกาะยาวน้อยควรเป็นแบบไหน ควรสร้างบ้านแบบใด โรงแรมขนาดเท่าไหร่ พื้นที่ตรงไหนเที่ยวได้ พื้นที่ตรงไหนกินเหล้าสังสรรค์ได้ ออกแบบทั้งเกาะเพื่อไม่ได้ชุมชนถูกกลืนโดยทุนใหญ่ ให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติยังสามารถมาพักแรมกับโฮมสเตย์ของชาวบ้านได้ในราคาที่ไม่แพง และนั่นจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ทุกครัวเรือน”

หากการวางแผนพัฒนาเมืองแบบ top-down ไม่สร้างดอกผลอะไรให้กับคนในพื้นที่ แล้วการเปลี่ยนเป็น bottom-up คิดจากคนในพื้นที่ ชาวบ้านจะได้อะไร เราถาม

“ชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการทำเรือทัวร์ ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เสร็จจากทำสวนยางก็มาขับรถรับส่งนักท่องเที่ยวได้ พื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ชุมชนก็จัดการได้ เช่นขยะ เพราะเมื่อคนน้อย เขาก็จัดการได้

“สุดท้ายคือ ปัจจุบันคนที่มาเกาะยาวน้อยไม่ว่าใครก็อยากกกลับมาอีก เพราะเขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย สัมผัสความสุขได้ ซึ่งการจัดการแบบนี้ ชาวบ้านรู้สึกว่ามันเกิดรายได้ที่กระจายไปสู่คนในชุมชน”

ประชาชนเอกชนและรัฐ

“การออกแบบผังเมืองนั้นต่อเนื่องมาจากโปรเจ็คต์พังงาแห่งความสุข ที่เราได้วางฐานของการทำงานในแบบที่ร่วมมือกับภาคีอื่นๆ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งการเห็นร่วมกันว่าเราควรจะสร้างคุณค่าเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว ไม่ใช่เพิ่มปริมาณการท่องเที่ยว ความร่วมมือจึงเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน”

แผนพัฒนาถูกออกแบบโดยมีเป้าหมายคือการสร้างเกราะป้องกันการพัฒนาที่ถูกรุกคืบโดยทุนใหญ่ภายนอก ดังเช่นการมาของสนามบินพังงาซึ่งมีการขอสัมปทานที่ป่ากว่า 2,000 ไร่

“เดิมคือบริษัทเอกชนจะขอสัมปทานสร้างสนามบินในที่ดินป่าไม้กว่า 2,000 ไร่ ที่บ้านหินลาด อำเภอท้ายเหมือง ตรงนั้นใกล้ๆ กับแหล่งท่องเที่ยว

“ตอนที่สนามบินจะเข้ามาแรกๆ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็สนับสนุน อยากให้มีสนามบินในพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งประชาสังคมและภาคส่วนอื่นๆ ที่อยู่ในโปรเจ็คต์พังงาแห่งความสุข แรกทีเดียวก็เห็นด้วยว่าควรมีสนามบิน”

มันเป็นความเห็นที่ตรงกันในหลักการว่าควรมีสนามบินเป็นของตนเอง แต่หากต้องแลกมาด้วยพื้นที่ป่ากว่า 2,000 ไร่ คนในพื้นที่มีวิธีการอื่นที่จะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า คือการสำรวจพื้นที่อื่นว่าหากไม่ใช่บ้านหินลาด จะยังมีตรงไหนของพังงาอีกบ้างที่สามารถสร้างสนามบินได้โดยไม่ต้องแผ้วถางป่าให้วอดวาย ผลของการหารือได้ข้อสรุปว่า ยังมีพื้นที่ 4,000 ไร่ ในตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง ซึ่งเป็นเมืองท่าอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องหักร้างถางพงใดๆ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นสนามบินของคนพังงา

นี่คือผลลัพธ์ของการจัดทำผังเมือง ที่จะช่วยให้จังหวัดมองเห็นพื้นที่ทางกายภาพโดยรวม และสามารถกำหนดโซนได้ว่า ตรงไหนเหมาะแก่การใช้ประโยชน์อย่างไร และยังสามารถกำหนดได้ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากการพัฒนา

ไมตรีทิ้งท้ายว่า ทุกสิ่งนั้นตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลทั้งสิ้น ไม่ใช่การ คาดว่า หรือ คิดว่า ดังที่ผ่านมา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสุขของคนพังงาจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งทางโครงสร้างเชิงกายภาพตลอดจนโครงสร้างทางสังคม

“ถ้ามีการจัดทำแผนพัฒนานี้ จะช่วยให้คนเห็นภาพเมืองของตนเองชัดเจนว่า อนาคตนั้น เมืองของเขาจะเป็นแบบไหน แล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาที่กระจายตัวแบบนี้อย่างไร เขากำหนดการพัฒนาและชีวิตในอนาคตของตนเองได้”

ผังเมืองที่ดีทำให้คนมีชีวิตที่ดี

สุทธิโชค ทองชุมนุม อดีตประธานหอการค้าจังหวัดพังงา และปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ดูแลโครงการพังงาแห่งความสุข เล่าให้เราฟังถึงรายทางการทำงานในครั้งนี้ว่า

“โครงสร้างและระบบของรัฐนั้นมันมีลักษณะรวมศูนย์ อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่กรม กระทรวงต่างๆ เช่น เรื่องของผังเมือง อำนาจก็จะอยู่ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การตัดสินใจในการออกแบบนั้น แม้ส่วนหนึ่งรัฐจะสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจก็อยู่ที่ข้างบน และเราก็จะเห็นหลายๆ ครั้งที่การออกแบบผังเมืองนั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนพังงา”

กว่า 10 ปีที่เขาได้คลุกคลีและมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองในบทบาทของภาคเอกชน สุทธิโชคค้นพบว่า ความชัดเจนของคนพังงา คือกุญแจสำคัญของการกำหนดเมืองและชีวิต

“ผังเมืองคือตัวกำหนดอนาคตของคน ว่าตรงไหนจะพัฒนาอย่างไร แต่ที่ผ่านมา ผังเมืองดันกลายเป็นอุปสรรค เพราะรัฐคิดมาจากข้างบน ทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับอะไรเลย ทั้งบริบท ศักยภาพในพื้นที่ ความต้องการของคนพังงา ดังนั้น คนพังงาจึงเริ่มคิดเรื่องการกำหนดทิศทางการพัฒนาของจังหวัดตัวเอง”

การที่ ‘ผังพัฒนาเมือง’ จะสมบูรณ์ได้นั้น สุทธิโชคไล่เลียงให้เราฟังถึงองค์ประกอบสำคัญสองส่วนคือ หนึ่ง การมีส่วนร่วมของผู้คน และสอง การทำงานเชิงวิชาการ

“เรามีนักวิชาการมาทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ลงพื้นที่จริง สำรวจและฟังวิถีของชาวบ้านแต่ละพื้นที่จริง จากนั้นเขาก็กลับไปเขียนวิจัย แล้วเอากลับมาให้ชาวบ้านดูอีก แล้วก็กลับไปแก้ไข กระบวนการเช่นนี้เราทำกันมาสามปี เพื่อช่วยกันจัดทำผังพัฒนาเมืองให้ถูกต้องกับความเป็นจริงของพื้นที่ให้มากที่สุด”

ที่ผ่านมานั้นเขายอมรับว่า ผังเมืองจังหวัดพังงาถูกกำหนดขึ้นโดยส่วนกลางอย่างขาดความเข้าใจในศักยภาพเชิงกายภาพของพื้นที่ และเป็นเช่นนี้ก็เพราะคนพังงาไม่มีแผนยุทธศาสตร์ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือว่าง่ายๆ คือ ไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไร

“เมื่อไหร่ที่ประชาชนชัดเจน มีแผนยุทธศาสตร์ฉบับประชาชน ผ่านการแสดงความคิดเห็น ได้รับการรับรองจากหลายภาคส่วน และทำงานวิชาการรองรับ เมื่อถึงเวลานั้น ถ้าประชาชนทั้งจังหวัดเห็นว่าควรที่จะแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่แท้จริง ผังเมืองก็สามารถแก้ไขได้”

ความตั้งใจเดิมของทีมงาน คือการจัดทำแผนพัฒนารายอำเภอ แต่ระหว่างทางกลับพบว่า การทำเช่นนั้นจะไม่เกิดการเชื่อมโยงของแต่ละพื้นที่ จึงปรับเปลี่ยนเป็นการแบ่งโซนจังหวัดออกเป็นสามส่วนคือ หนึ่ง พื้นที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามัน สอง ฝั่งทะเลอ่าวพังงา และ สาม พื้นที่บก

“สามโซนนี้มีศักยภาพ วิถีชีวิต การใช้ประโยชน์ และกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน ฉะนั้น การพัฒนาก็จะต้องสอดคล้องกับแต่ละส่วนพื้นที่ และที่สำคัญ ต้องให้เกิดการเชื่อมโยงเกื้อกูลกันด้วย ไม่ใช่พัฒนาใครพัฒนามัน”

ล่วงเข้าปีที่สามของการทำงาน การมาของ COVID-19 ถือเป็นบททดสอบของทีมงานว่า แผนพัฒนาเมืองที่คนพังงาคิดร่วมกันนั้นสามารถโอบอุ้มผู้คนได้มากน้อยเพียงใดในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ โดยเฉพาะการเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และหนักหน่วง

“ช่วงโควิดนั้น เราได้มีการทบทวนแผน เพราะนี่คือวิกฤติที่แน่นอนว่าสามารถเกิดได้อีกในอนาคต เราพยายามเอาวิกฤติครั้งนี้มาใส่ในผังพัฒนาด้วย เพื่อทำเป็นบทเรียนและวางแผนรับมือในอนาคต ดังนั้น ผังพัฒนาของเราก็จะพูดเรื่องของโรคระบาดด้วย”

บทเรียนที่สำคัญในครั้งนี้ สุทธิโชคยกตัวอย่างอำเภอกะปง ชุมชนที่มีศักยภาพทางการเกษตร เดิมทีเกษตรกรส่วนใหญ่ยึดโยงกับการปลูกพืชเดี่ยว เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งหลังการจัดทำแผนพัฒนา ตามมาด้วยความพยายามสร้างพื้นที่ให้เป็นศููนย์กลางอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร เมื่อเกิดโรคระบาดจึงทำให้คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แหล่งอาหารนั้นนอกจากทำให้อิ่มท้องแล้วยังสามารถขายได้ รวมทั้งแบ่งปันจุนเจือเพื่อนพ้องในภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดอีกด้วย

“เมื่อก่อนเราปลูกพืชและขายแบบปฐมภูมิ ไม่มีการแปรรูป ทำให้ต้องใช้เงินนำเข้าอาหารจากที่อื่นมาแทบทั้งหมด คนพังงาจึงไม่มีพฤติกรรมในการปลูกอาหารเพื่อกินเพื่อขาย ‘ผังพัฒนาเมือง’ ที่เราทำจึงสอดคล้องกับโลกปัจจุบันและอนาคตด้วย ครอบคลุมทั้งมิติเชิงกายภาพ สังคม และวิถีชีวิต”

การเปลี่ยนแปลงเมืองนั้นไม่เคยง่าย โดยเฉพาะหากดูจากการพัฒนาชาติไทยที่ผ่านมา แต่ภารกิจครั้งนี้ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาร่วมทศวรรษของการผลักดันแนวคิดพังงาแห่งความสุข ได้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสี่ส่วนหลักๆ คือ ประชาชน ประชาสังคม เอกชน และรัฐ มาอย่างเหนียวแน่น

“กว่าทุกฝ่ายจะมาร่วมมือกันได้ เริ่มแรกนั้น ต่างคนก็เหมือนมาจากหนังสือคนละเล่ม”

ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ ประชาสังคมไม่ไว้ใจเอกชน เอกชนต่อต้านวิธีการของฝั่งประชาสังคม แต่เมื่อภาพเมืองแห่งความสุขด้วยการกำหนดตนเองได้ คือความฝันร่วมของทุกคน การหันหน้าคุยกันจึงเป็นเรื่องจำเป็น

“จำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องผนึกกำลังกัน มันทำเดี่ยวๆ ไม่ได้ เราต้องการพลังในการเปลี่ยนแปลง พลังในการกำหนดพังงาด้วยตัวของพวกเราเอง”

จากแนวคิดพังงาแห่งความสุข สู่การผลักดันเรื่องของผังเมืองและแผนการพัฒนา ระยะเวลาร่วมสิบปีจากจุดเริ่มต้นจวบจนปัจจุบัน พังงาแห่งความสุขขยับขยายจากแนวคิดสู่การก่อตั้งเป็น ‘สถาบันพังงาแห่งความสุข’ ด้วยเหตุผลที่ชาตรีบอกเราว่า “เราไม่อยากให้เรื่องของคนพังงาเป็นเพียงนิทาน เราอยากเป็นตำนานที่ยั่งยืน เพื่อที่คนรุ่นหลังจะสามารถสานต่อได้”