มอแกลนทับตะวัน ความ ‘เคว้ง’​ ที่แท้ทรู เรื่องสุขและเศร้าหลังเช้าสึนามิ

มอแกลนคือใคร

ก่อนเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 เราแทบไม่รู้จักชาวมอแกลนเลยแม้แต่น้อย เรื่องราวของพวกเขาปรากฏขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ ชาวมอแกลนส่วนมากรอดชีวิต เพราะในเช้าวันนั้น เมื่อน้ำทะเลลดฮวบ ชาวบ้านรีบวิ่งขึ้นที่สูง ชาวประมงที่ออกทะเลต่างหันหัวเรือวิ่งสวนแนวคลื่นและรอดจากการถูกคลื่นยักษ์ซัดเข้าหาฝั่ง 

ทวดของเราเล่าให้ฟังว่า ถ้าจะมีขึ้นคลื่นยักษ์ น้ำทะเลจะแห้ง และจะมีเต่า ปลาตัวใหญ่อยู่เต็มหาดให้เราวิ่งไปจับเป็นอาหารได้ แต่พวกเราห้ามไปจับนะ ต้องวิ่งขึ้นที่สูงเท่านั้น”  

ในปี 2545 หญิงอรวรรณ หาญทะเล เล่าให้เพื่อนที่ทำงานฟังเช่นนี้ ทว่าพวกเขากลับหัวเราะด้วยคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล แม้ตัวหญิงเองก็ยังไม่มั่นใจนักว่าเรื่องเล่าของทวดนั้นจริงแท้อย่างไร  แต่เมื่อ 2 ปีต่อมาเราต่างได้รู้กันแล้วว่า เธอหาได้กล่าวคำลวง

ความเท่าทันในการมองฟ้า มองลม ดูทะเล และตำนานคลื่นยักษ์เจ็ดชั้นที่ผู้เฒ่าผู้แก่สอนมาว่า ถ้าน้ำทะเลลดหายไป ให้เราไปอยู่บนที่สูง หมูหมากาไก่ที่วิ่งหนี ให้ตามมันไป เพราะใช่ว่าเราเป็นคนแล้วจะฉลาดกว่าสัตว์ สัตว์เหล่านี้เขาเท่าทันและอยู่กับธรรมชาตินะ ความเชื่อนี้ทำให้เรารอดจากสึนามิในครั้งนั้น” 

กว่าร้อยปีที่บริเวณแถบทะเลอันดามัน คือสถานที่ตั้งมั่นของมอแกลน ชนเผ่าชาวเลผู้ที่มีทักษะว่ายน้ำและดำน้ำเป็นเลิศ ทั้งยังสันทัดการเดินเรือโดยอาศัยการเพ่งพิศกระแสน้ำ ทิศทางลม การโคจรของดวงจันทร์และดวงดาว วิถีชีวิตของพวกเขาล้วนแอบอิงกับธรรมชาติและคุ้นเคยกับท้องทะเลตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนมีคำกล่าวว่า เด็กชาวเลว่ายน้ำเป็นก่อนที่จะเดินเป็นเสียอีก 

หาดทรายขาวทอดยาว สุดโค้งหาดคือโขดหินเรียงราย เพียงย่างเท้าลงหาดทราย สายตาอันเฉียบคมของสุภาพสตรีชาวมอแกลนก็สามารถอ่านทะเลออกอย่างทะลุปรุโปร่ง ด้วยเห็นแล้วว่า ต้องรอสักครู่น้ำจึงจะลดลง และสามารถลุยข้ามไปยังโขดหินได้ สาหร่ายที่โผล่เหนือน้ำอยู่ตำแหน่งใดบ้าง สารภาพตามตรงว่าเราเองพยายามที่จะเพ่งมองตาม จนแล้วจนรอดก็ไม่เจอสิ่งที่เรียกว่าสาหร่ายทะเลแต่อย่างใด

ตาเหมือนนกออก น้ำเจ็ดศอกยังมองเห็นดูท่าจะไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงเสียแล้ว

เรารู้ได้ว่าควรหาปลาเวลาไหน โตเท่าไหร่จึงจะกินได้ ใช้เครื่องมือแบบไหนถึงจะไม่ผิดจารีต ไม่ผิดกฎที่บรรพบุรุษสอนมา และไม่หากินอย่างล้างผลาญ เพราะถ้าหากทำเช่นนั้นจะโดนบรรพบุรุษลงโทษ เราจึงหาอาหารไม่เยอะเกินไป แค่เพียงพอกิน เอาเท่าที่ตัวเองจะเอาไปใช้” 

ความเคารพต่อคำสอนของบรรพบุรษ และความเชื่อของมอแกลนที่ว่า หากส่วนใดส่วนหนึ่งของธรรมชาติถูกทำลาย จะเกิดผลกระทบกับส่วนที่เหลือทันที คำสอนและความเข้าใจจึงเป็นเส้นกำหนดการหากิน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติ กล่าวได้ว่ามอแกลนนั้นรู้จักธรรมชาติและเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ทว่าสิ่งที่พวกเขาไม่เท่าทัน นั่นคือความโลภของมนุษย์ ที่มาในคราบของกลุ่มทุน 

26 ธันวาคม พุทธศักราช 2547 

หญิงเอ้ย โทรไปบอกพ่อกับแม่เร็ว เกิดคลื่นยักษ์!” ครู

ตลกอีกแล้วครูหญิง

ไม่ได้ตลกนะ บ้านครูพังหมดแล้วว่าแล้วเธอก็ร้องไห้ 

เมื่อน้ำตาของครูหลั่งไหล หญิงจึงรู้แน่แล้ว ว่าครอบครัวของเธออยู่ระหว่างความเป็นและความตาย หญิงคว้ามอเตอร์ไซค์ขี่ควบจากที่ทำงานไปยังหมู่บ้านทับตะวัน อันเป็นที่ตั้งของชุมชนมอแกลน ขณะนั้นคือช่วงเช้า เสาไฟล้มระเนระนาด ผู้คนวิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น หญิงบนมอเตอร์ไซค์คันเก่าทำได้เพียงภาวนา ขออย่าให้ความตายมาสู่ครอบครัวและคนที่เธอรัก

พอขับรถมาถึงปากทางบ้านทับตะวัน เราก็เห็นผู้คนสภาพเปลือยเปล่า หน้าตาเลอะเทอะวิ่งหนีออกมา สภาพฝรั่งนอนตายเกลื่อน ไม่นานเราก็รู้ว่าพ่อแม่บุญธรรม น้องสาวน้องชายเสียชีวิตหมดแล้ว ส่วนบ้านญาติๆ ในทับตะวันก็เหลือแค่เสาบ้าน” 

แต่คนมอแกลนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็รอด เพราะว่ามีญาติไปหาปลาในทะเลแล้วเกิดน้ำทะเลแห้ง เขาก็เลยวิ่งขึ้นฝั่งขี่จักรยานมาบอกคนในหมู่บ้านว่าจะเกิดคลื่นยักษ์ ทุกคนเชื่อและวิ่งขึ้นที่สูง บางคนอยู่ในทะเล เขาก็จะถูกสอนว่าให้วิ่งเรือลงไปในทะเลลึก ถึงจะรอด และเขาก็รอด” 

ทับตะวัน
ศาลพ่อตาสามพัน ศูนย์รวมจิตใจของชาวมอแกลน

หญิงเกิดและโตที่บ้านทับตะวัน เธอคือชาวมอแกลนขนานแท้ และเรารู้ได้จากนามสกุลหาญทะเลอันเป็นสัญลักษณ์ของมอแกลน แม้ผ่านมาแล้ว 15 ปีแห่งการสูญเสีย ทว่าเมื่อเธอได้เล่าถึงภาพเหตุการณ์ในวันนั้นครั้งใด น้ำตาก็พลันไหลครั้งนั้น 

หญิงปาดน้ำตาพลางบอกว่าหลังสึนามิไม่นาน เราเห็นป้ายของกลุ่มทุนที่เขียนว่าตรงนี้คือที่ส่วนบุคคล เป็นที่ของเขาญาติเราก็พากันพูดว่านี่ที่ของเรา แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน’ ”

สึนามิหลังสึนามิ
การต่อสู้เพื่อบ้าน ที่ดิน และสิทธิมอแกลน

สึนามิพัดผ่าน ยังไม่ทันที่น้ำตาข้างแก้มของชาวมอแกลนจะแห้งหาย คลื่นยักษ์ลูกใหม่ก็โหมกระหน่ำอีกครั้งในคราบของการท่องเที่ยวผืนดินถูกตราโฉนดอ้างเอกสารสิทธิ์โดยกลุ่มทุนที่หวังเนรมิตรภูมิทัศน์ชายหาดให้กลายเป็นโรงแรมหรู ข้อความบนป้ายกล่าวอ้างถึงความเป็นเจ้าของบนผืนดินที่พวกเขาอาศัยอยู่เป็นเวลากว่าร้อยปี  

คำถามต่อไปคือ พวกเขาจะลุกขึ้นสู้หรือไม่ แล้วถ้าสู้ จะสู้อย่างไร?

ตอนเด็ก หญิงจะโดนเพื่อนต่างโรงเรียนดูถูกว่า ไอ้พวกชาวเล ปาก้อนหิน ปาน้ำเฮลซ์บลูบอย ถึงโรงเรียนครูก็จะมองเราเป็นเด็กสกปรก แต่ก็จะมีครูใจดีนะ จากเหตุการณ์วันนั้น หญิงก็มาเล่าให้พ่อแม่และคนในหมู่บ้านฟังว่าเราถูกกระทำ พ่อแม่หญิงเองก็กลัว บอกว่าอย่าไปทำเขา แอบๆ ข้างป่าเลย หญิงถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น พ่อแม่ก็บอกว่าไม่อยากมีปัญหา เดี๋ยวเขาเอาตำรวจมาจับเรา พ่อแม่ต้องเสียเงิน และเราจะไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีความรู้เหมือนใครเขาหญิงเล่า

มอแกลนเป็นคนสันโดษ กลัวมาก ใครมาก็วิ่งหนี นี่คือนิสัยเดิมๆ เลย แต่พอมายุคของหญิงเยาวชนกลุ่มนี้เขาได้รับการศึกษา เข้าโรงเรียน พวกเขาโดนรังแกมาตั้งแต่เด็กนะ เพราะถูกกดขี่ พวกเขาจึงพยายามพัฒนาตัวเองและรวมกลุ่มกันขึ้นมาเก๋เล่าเสริม

เมื่อถึงคราวต้องสู้ หญิงและเพื่อนจึงต้องหาหนทาง เธอเริ่มจากการตามหาประวัติศาสตร์ของมอแกลน ผ่านความทรงจำของผู้เฒ่าในหมู่บ้าน เพื่อยืนยันความจริงที่ว่า ใครควรมีสิทธิในผืนดินแห่งนี้ ผืนดินที่เธอและเพื่อนเกิด เติบโต และวิ่งเล่นมาตั้งแต่จำความได้ 

เราเริ่มไปถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ตกลงแล้วสมัยอดีตตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเราหรือ ต้นมะพร้าวนี้ไม่ใช่ของเราหรือ ถ้าไม่ใช่ของที่พ่อแม่เราปลูก ก็ให้เขาเถอะ เราเป็นคนผิด

ไม่ เราเป็นคนปลูก ศพบรรพบุรุษอยู่ตรงไหน ตายตรงไหนก็บอกได้หมดชาวบ้านตอบ

อย่างนั้นก็ยกให้เขาเถอะถ้าเราไม่กล้าหญิงกล่าว

ถ้ายกให้เขาแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหนชาวบ้านถามกลับ

จะสู้ไหมหญิงถาม

ไม่สู้

จะเอาอย่างไรหญิงถามต่อ

ชาวบ้านจึงบอกว่าให้กลุ่มของเราไปเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้านก็น่าจะดีกว่า หญิงและเพื่อนจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นต้องพูดความจริงกันทั้งหมดนะ ว่าที่ดินตรงนี้เป็นของใคร เล่าออกมาให้หมดเราก็เริ่มเก็บข้อมูลกับเพื่อน ตอนแรกชาวบ้านก็บอกว่าเราไม่สามารถช่วยเขาได้ เขาเป็นผู้ใหญ่ยังสู้ไม่ได้เลย เราจะสู้ได้อย่างไรหญิงเล่า 

ลองนึกภาพว่า เมื่อวานนี้เราต่างใช้ชีวิตตามอัตภาพที่เคยเป็นมา มีบ้าน อาหาร ญาติมิตร และครอบครัว ทว่ารุ่งขึ้น คลื่นลูกใหญ่ได้ซัดสาดคนรักให้ล้มหายตายจาก กวาดบ้านเรือนจนราบเรียบเหลือเพียงเสา พัดพาอาหารที่เก็บตุนไว้แรมปีไปตามกระแสน้ำ แถมผืนดินที่พำนักก็ถูกจับจองโดยมนุษย์ผูกไท ความสูญเสียที่ประดังเข้ามาในชุมชนจึงเป็นแรงขับให้กลุ่มเยาวชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ขณะนั้นกลุ่มเยาวชนที่ประกอบไปด้วยหญิงและเพื่อนจึงเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เรื่องเล่า รากเหง้าของชุมชนผ่านคำบอกกล่าวของผู้เฒ่าในหมู่บ้าน ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้ได้ทำงานร่วมกันโดยแบ่งความรับผิดชอบเป็นหลายฝ่าย เช่น การประสานกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่อื่นจนเกิดเป็นเครือข่าย การประสานงานกับกลุ่ม NGO เรื่องปัญหาที่ดิน การหารายได้มาจุนเจือครอบครัวเพื่อที่เธอและกลุ่มจะได้ทำงานอาสาได้อย่างเต็มที่ ไปจนถึงการสื่อสารที่หญิงบอกว่า เธอและเพื่อนไปทุกเวทีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชาวมอแกลนให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมที่มอแกลนควรได้รับ โดยจุดหมายของงานอาสานี้ก็เพื่อพามอแกลนสู่สังคมในอุดมคติที่เธอและเพื่อนเชื่อว่าคนต้องเท่ากัน

เมื่อได้ร่วมทุกข์ จึงก่อเกิดความรัก

เมื่อก่อนเราคือเครือข่ายเยาวชนที่จะช่วยกันรณรงค์เรื่องปัญหาที่ดิน แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการทำงานเรื่องมอแกลนอย่างจริงจังคือ เราพบรักกับหญิงที่ทับตะวัน แต่งงาน มีลูก เวลาเราแนะนำตัวบนเวที เราเคยบอกว่า ผมไม่ใช่มอแกลนนะครับ ผมเป็นเขยมอแกลน ตอนนั้นลูกยืนฟังอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่า หนึ่ง พี่น้องมอแกลนเขารู้สึกว่าเราไม่ยอมรับในความเป็นมอแกลน และสอง มันทำให้ลูกของเราไม่ยอมรับไปด้วย เราจึงเปลี่ยนความคิด

คำบอกเล่าของ เก๋วิทวัส เทพสง ชายหนุ่มหน้าตาคมเข้ม ที่ขณะนี้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมในชุมชนทับตะวัน และเป็นรองประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จากเพื่อนเครือข่ายเยาวชนต่างหมู่บ้าน ที่ต้องมาทำงานร่วมกันและเกื้อกูลกันจากปัญหาที่ดินจนถึงภัยพิบัติสึนามิ ทำให้เก๋ได้พบรักกับหญิง และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่บ้านทับตะวันอย่างจริงจัง  

พอเปลี่ยนความคิดว่า เราคือชาวมอแกลนคนหนึ่งเช่นกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เริ่มบอกเล่า เริ่มสอนวิชาความรู้ของมอแกลน ทั้งประวัติศาสตร์ ไปจนถึงศาสตร์ของการใช้ชีวิต ซึ่งมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เราจึงร่วมมือกันกับน้องๆ เยาวชน เพื่อเริ่มทำงานรณรงค์เชิงวัฒนธรรม เราทำเรื่องการสื่อสาร การสร้างวงรองเง็ง การเก็บข้อมูลภาษามอแกลนมาเป็นพจนานุกรม มอแกลนไทยอังกฤษ สุดท้ายแล้วมันก็พัฒนามาเป็นเรื่องหลักสูตรเชิงการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชาวมอแกลน

เดิมทีนั้น การต่อสู้ของพวกเขาเต็มไปด้วยการปะทะเพื่อคัดง้างกับอิทธิพลภายนอก ดังที่เก๋เล่าให้เราฟังว่าเดิมทีนิสัยคนมอแกลนนั้นสันโดษ ขี้กลัวมาก ใครมาก็วิ่งหนี แต่พอมายุคคนรุ่นใหม่ เยาวชนกลุ่มนี้เขาก็ผ่านประสบการณ์ ได้รับการศึกษา เข้าโรงเรียน และด้วยความที่พวกเขาก็โดนรังแกมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาจึงพัฒนาตัวเองและลุกขึ้นสู้นะ” 

พอช่วงหลังสึนามิในปี 2548 จะมีเอ็นจีโออยู่เต็มพื้นที่เลย ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยสร้างบ้าน ไม่มีทั้งชุมชนเลย พอปี 2549 เกิดการประสานงาน หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยกันในพื้นที่ บ้านที่ถูกคดีเราก็ใช้วิธีการระดมเงินแล้วซื้อไม้จากต่างประเทศ สร้างบ้านกันตอนกลางคืน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวตำรวจมาจับ นายทุนมาห้าม อันตรายนะ การต่อสู้เต็มไปด้วยอิทธิพล

เมื่อเวลาผ่านไปพร้อมๆ กับการพัฒนาตนเองของกลุ่ม แนวทางการทำงานจึงเริ่มเปลี่ยน เมื่อพวกเขาหวนย้อนกลับมาแสวงหาคุณค่าของชุมชน คุณค่าของวิถีชาวเล จึงพบว่า เครื่องมือที่ดีที่สุดในการทำงานคือ ต้นทุนในชุมชนที่พวกเขามี 

กลุ่มของเราเริ่มมีแนวคิดในการต่อสู้บนฐานของชุมชน แต่ความเข้าใจนี้มันก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ หลังจากที่เกิดการพูดคุยกัน สื่อสารกันว่าเราไม่ได้ต้องการเอาที่ดินมาเพื่อเป็นของปัจเจก แต่ต้องการให้เป็นที่ของสาธารณะ เช่นฉันสามารถมาเดินชายหาดตรงนี้ได้ พาลูกมาเล่นน้ำได้ ฉันมาหาหอยกุ้งปูปลาได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็คิดว่ากระบวนการยุติธรรม พิสูจน์สิทธิต่างๆ มันน่าจะเกิดความเป็นธรรมเมื่อเราสร้างความเข้าใจไปสู่สังคมเรื่อยๆ

ปัจจุบันเมื่อต้องไปแนะนำตัวบนเวที คุณแนะนำตัวเองว่าอะไร? – เราถาม 

ผมคือชาวมอแกลนครับเก๋ยิ้มกว้าง 

ครอบครัวใหญ่ที่ชื่อว่าพังงาแห่งความสุข

ย้อนไปยังปี 2557-2560 ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนพบว่า จังหวัดพังงาครองแชมป์ความสุขติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ซึ่งความสุขที่ว่าหาใช่เพียงแหล่งธรรมชาติหรือทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์เท่านั้น ความสุขในความหมายของครอบครัวนี้ ผ่านการทำงานฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันของคนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ที่พากันข้ามปัญหาน้อยใหญ่ตั้งแต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สวัสดิการที่ไม่ทั่วถึง ตลอดจนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจต่อรองเชิงนโยบาย 

จุดเริ่มต้นของพังงาแห่งความสุขเริ่มจากคำถามชวนคิดของ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เมื่อปี 2556 ว่าการทำงานเพื่อสังคมของคนพังงา ควรมีเป้าหมายที่เกิดจากเรา ไม่ใช่ของใครอื่น นั่นทำให้กลุ่มคนทำงานได้หักเหแนวคิด โดยตั้งตนจากคำถามว่าพังงาแห่งความสุขคืออะไรโดยที่คนพังงาทุกคนต้องตอบคำถามนี้ให้ได้อย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าความสุขที่พวกเขาพยายามขับเคลื่อนและพัฒนา คือความสุขที่ตั้งอยู่บนความต้องการของผู้คน ชุมชน และจังหวัด 

ครอบครัวใหญ่นี้ประกอบสร้างจากแนวคิดการจัดการตนเองผสมรวมกับวาทกรรมพังงาแห่งความสุขผ่านการร่วมมือในหลายภาคส่วนทั้งภาคประชาชน เอกชน และหน่วยงานรัฐ เมื่อเป้าหมายเริ่มชัด งานหนักต่อมาคือ หนึ่ง การบ่มเพาะตนเองและทีมให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน มองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาในภาพเดียวกัน เพื่อพัฒนาให้ไปถึงระดับโครงสร้าง และสอง คือการมีภาวะการเป็นผู้นำร่วม (collective leadership) ของคนทำงานทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชน ในการทำงานขับเคลื่อนเพื่อความสุขของทุกคนในจังหวัดไปด้วยกัน

ตอนแรกเราไปแค่ร่วมงานโครงการพังงาแห่งความสุข เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้คนพังงารู้จักชาวเลแค่นั้น เรามีชาวเล 22 ชุมชนในจังหวัดพังงา แต่เพื่อนกลับไม่รู้จักเราเลย พอเข้าไปและได้ทำงานด้วยกันเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเป้าหมายของเพื่อนต่างหมู่บ้านก็เหมือนกับเรา! แต่ที่เพื่อนเรามองแตกต่างเพราะเขาไม่เข้าใจ นี่จึงเป็นเป้าหมายว่า ให้เพื่อนเข้าใจเราก่อน แล้วให้โอกาสเขาและเราในการทำความรู้จักกัน ตอนนี้เรากลายเป็นเหมือนพี่ เหมือนน้อง ที่ใครมีปัญหาก็ช่วยกันคลี่คลาย เรารู้สึกว่านี่คือครอบครัวใหญ่ ที่ช่วยกันสร้างสิ่งที่เรียกว่า ความสุข ให้เกิดขึ้นกับคนพังงาจริงๆหญิงบอกถึงจุดเริ่มต้นของการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็คต์พังงาแห่งความสุข

ที่จริงพื้นที่ในจังหวัดพังงา ทุกพื้นที่มีปัญหาหมด ความเหลื่อมล้ำของสังคมมันมีอยู่จริง เพียงแต่ว่าใครล่ะจะลุกขึ้นมาทำให้มันดีขึ้น เช่น เกาะยาวน้อย เขาก็มีปัญหาเหมือนพื้นที่ทั่วไป ถูกแย่งชิงทรัพยากร ถูกตัวบทกฎหมายและนโยบายกำหนดให้เอื้อแก่การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับชุมชน เขาก็พลิกวิกฤติกันขึ้นมาจนกลายเป็นเกาะยาวน้อยแห่งความสุข” 

หรืออย่างรมณีย์ ก็เป็นตำบลที่ไม่เคยคิดเลยว่าจะลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ได้ เขาก็เริ่มขยับขึ้นมาตั้งแต่ยึดพื้นที่บ่อน้ำร้อนกลับมาเป็นของชุมชน เป็นพื้นที่ส่วนรวม ไปสู่การออมทรัพย์ชุมชน และขยายไปสู่การดูแลสวัสดิการคนในชุมชน ผลผลิตทางการเกษตรโดยที่ไม่รอแค่ให้รัฐมาหนุนเสริม ไปจนถึงตอนนี้เขาเริ่มสร้างพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้จนเกิดเป็นหลักสูตรเช่นกันเก๋เล่าเสริมจากหญิง 

ทับตะวันในวันนี้

แล้วความสุขในความหมายของทับตะวันคืออะไร? – เราถาม 

คือความสงบ เรียบง่าย คนที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่อยู่ได้แบบยั่งยืน ไม่มีพิษมีภัย เป็นพื้นที่ที่คนเข้ามาแล้วจะรู้สึกได้เลยว่า ที่นี่ยังบริสุทธิ์อยู่ ทั้งใจคน วิถี ความเชื่อ พื้นที่ธรรมชาติ และคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่เฉยๆ นะ พยายามที่จะอนุรักษ์และรักษามันเอาไว้เก๋ตอบ

ตื่นเช้ามาไถ่ถามผู้เฒ่าที่ไปหาหอย แล้วเขาก็เอามาแบ่งให้เรา วิถีแบบนี้มีความสุขมากนะ อย่างน้อยเราเห็นรอยยิ้มผู้เฒ่าบอกว่าไปหาปลามา เอามาแกงกระบอก เอามาจากขุมเขียวถ้าสิ่งนี้เขาต้องไปซื้อของจะไปเอาเงินมาจากที่ไหน และไม่รับรองด้วยว่าปลาที่ซื้อมาจะปลอดภัย

ขุมเขียวคือที่ไหนเราถามต่อ

ขุมหลายถึงบึงเขียวคือ เมื่อก่อนน้ำตรงนี้จะเป็นสีมรกต แล้วพวกป้าๆ ก็จะเรียกที่นี่ว่าขุมเขียว เป็นที่จอดเรือ และเป็นที่ป่าชายเลนที่พวกเราเอาไว้หาหอย หาผัก หาสมุนไพร จากการที่เราทำค่ายเยาวชน ในขุมเขียวนั้นมีทั้งผัก และสมุนไพร 125 ชนิด ปลาหรือหอยมีหลายชนิดมากหญิงตอบ

มีแทงโวยวายด้วยนะ โวยวายคือปลาหมึกสายที่มีประมาณ 8 ขา แต่เด็กรุ่นใหม่เรียกว่าโวยวายเพราะมันชอบเกาะแขน เอามาทำได้ทุกอย่าง ยำ ผัด ลาบ คนญี่ปุ่นก็จะกินแบบสดๆ มันจะมีอยู่ในรูปะการัง เวลาน้ำแห้งก็จะเป็นเหมือนปะการังแห้ง เราจะแกะเอาเนื้อปูมาเป็นเหยื่อล่อ ใช้เหล็กแทงที่คอหมึก แล้วก็จะได้ขึ้นมา” 

แล้วก็มีบ้านยายลาบ และของมอแกลนที่ได้รับการสืบทอดมา 13 ชั่วคน ยายลาบจะมีสิ่งของที่เหลือจากสึนามิ คนที่มาจะได้เห็นว่าของที่คนมอแกลนบูชามีอะไรบ้าง มีน้ำมันมะพร้าวที่ยังอยู่บนหิ้ง ซึ่งเป็นน้ำมันมะพร้าวที่ผู้หญิงบริสุทธิ์เคี่ยว และต้องไปเคี่ยวในป่าลึก ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และเราจะเก็บเอาไว้ทำพิธีเก๋เสริม

หญิงและเก๋ช่วยกันอธิบายของดีของมอแกลน โดยตบท้ายว่าเราต้องอนุรักษ์พื้นที่เหล่านี้เอาไว้ แต่การอนุรักษ์เป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง ระดับนโยบายแล้ว เราต้องทำให้คนเข้าใจคือ หนึ่ง สื่อให้สังคมเข้าใจว่าเราจะอนุรักษ์เพื่ออะไร เราไม่ได้อนุรักษ์เพื่อแค่ชาวมอแกลน เราอนุรักษ์เพื่อระบบนิเวศ เราก็เลยทำเรื่องท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ คนอื่นเขาทำการอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยว แต่เราทำเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ เข้ามาเที่ยวก่อน คุณจึงจะรู้ว่ามันมีคุณค่านะ” 

ถ้ามองในภาพใหญ่กว่านั้น พังงาแห่งความสุขในความหมายของหญิงคืออะไร? – เราถาม

เราเห็นพื้นที่ที่เรามีอยู่มีความยั่งยืนด้วยน้ำมือของพวกเรา ไม่ใช่ด้วยนโยบายว่าต้องสร้างนี่ ทำนี่ เหมือนบางโครงการที่มามอบเงินให้ชาวบ้าน แต่โครงการแบบนั้นมันไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกของเราว่า เราอยากทำอะไร เราไม่อยากเห็นแบบนั้น แต่อยากเห็นความต้องการของชุมชนนั้นจริงๆ และทำจริง นั่นคือพังงาแห่งความสุขในความหมายของเรา ความสุขที่เกิดจากการช่วยกันพัฒนาบนความต้องการของชุมชนจริงๆหญิงตอบคำถาม