ข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล: ปฏิบัติการโต้คลื่นไวรัส จากบทเรียนสึนามิ

‘ชาวเลไม่มีข้าวสารกินแล้ว’

คำร้องทุกข์ของชาวเลราไวย์ในจังหวัดภูเก็ต จากวิกฤติ COVID-19 ที่แต่เดิมแล้ว พวกเขามีอาชีพหลักคือการหาปลา นำมาขายให้นักท่องเที่ยว มีรายได้เพียงวันต่อวัน เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทวีความรุนแรง ส่งผลให้เกิดมาตรการปิดเมือง ปิดเกาะ การท่องเที่ยวชะงักงัน แน่นอนว่า ชาวเลคือหนึ่งในกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

“พอเกิดวิกฤติ COVID-19 ปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดเกาะ ชาวเลหาปลามาก็ไม่รู้จะเอาไปขายใคร นานวันเข้าก็ไม่มีเงินที่จะซื้อข้าวกิน เขาก็ส่งข่าวมาที่มูลนิธิชุมชนไทว่า ชาวเลไม่มีข้าวสารกินแล้ว”

ไมตรีจงไกรจักร นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุขและผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของไอเดีย ‘ข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล’ ที่ก่อร่างจากปัญหาปากท้องของพี่น้องชาวเล

ในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของประเทศ ชาวดอยก็มีชีวิตสาหัสไม่แพ้กัน ทั้งภัยไฟป่า ฝุ่นควัน และไวรัสระบาด โจทย์ที่สำคัญ ณ ขณะนั้นคือ เราจะช่วยเหลือกันและกันอย่างไรดี?

“เราก็ไปคุยกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากว่าทั้งชาวเลและชาวกะเหรี่ยงนั้นเป็นเครือข่ายชาติพันธ์ุ มีความสัมพันธ์กันและพบปะกันในงานชนเผ่าอยู่เสมอ และจะมีกิจกรรมแลกข้าวแลกปลากันมาก่อน เราคุยกัน เขาเอาด้วย แล้วทำเลย”

ชาวเลเร่งแปรรูปปลา ชาวดอยเร่งเก็บข้าว

เมื่อปัญหาปากท้องของพี่น้องชาวเล และชาวดอยอยู่ในขั้นวิกฤติ ไอเดียการแลกเปลี่ยนแบ่งปันอาหารจึงเริ่มขึ้น เพื่อปัญหาขาดแคลนข้าวสารของชาวเล และการขาดแคลนปลาทะเลของชาวกะเหรี่ยงบนดอย

การแลกเปลี่ยนระหว่างชาวกะเหรี่ยงบนดอย และชาวเลราไวย์บนเกาะพีพีนั้นไม่ใช่งานง่าย ด้วยทั้งระยะทาง การสื่อสาร การขนส่ง เหล่านี้คือต้นทุนทั้งสิ้น การดำเนินการจึงต้องใช้เวลาพอสมควร ชาวเลต้องเร่งทำปลา ชาวดอยก็เร่งเก็บข้าว เพื่อจุนเจือแบ่งปันเพื่อนพ้องในวิกฤติครั้งนี้

ทว่าในระหว่างทางของการเตรียมข้าวเพื่อนำมาแลกกัน แนวคิดของโปรเจ็คต์นี้ได้ขยับขยายไปยังกลุ่มประชาสังคมชาวนายโสธรที่ส่งเสียงว่า ‘เราร่วมด้วย’ ความร่วมไม้ร่วมมือของประชาชน ประชาสังคม สื่อมวลชน และภาครัฐจึงเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ภายในหนึ่งอาทิตย์ตั้งแต่คุยกันว่า ชาวนายโสธรอยากแลกเปลี่ยนด้วย เขาทำงานกันเร็วมาก ระดมข้าวได้ 7 ตัน ส่วนทางเราก็เริ่มทำปลา ซึ่งต้องเท้าความก่อนว่า พี่น้องยโสธรเขาเคยทำงานร่วมกับกองทัพอากาศในสมัยน้ำท่วม พอมาถึงโปรเจ็คต์นี้ ทางกองทัพอากาศก็เข้ามาช่วยหนุนเสริมในการขนส่งข้าวเที่ยวแรก เพราะตอนนั้นพี่น้องราไวย์กำลังอดข้าว”

ความร่วมมือเริ่มขยายกว้าง จากการแลกเปลี่ยนข้าวระหว่างชาวเลราไวย์บนเกาะพีพีกับชาวกะเหรี่ยงบนดอย ขยายสู่พี่น้องชาวนาจังหวัดยโสธร ก่อเกิดการร่วมมือกับกองทัพอากาศที่เข้ามาเป็นทีมกองหนุนในการขนส่งอาหาร

ไม่ใช่เฉพาะชาวเลราไวย์บนเกาะพีพีเท่านั้นที่กำลังอดข้าว ชาวเลแถบทะเลอันดามันในหลายพื้นที่ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากไม่ต่างกัน เช่น ที่ชุมชนชาวเลมอแกน บนเกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา

“ในจังหวัดพังงาเองก็เห็นว่า พี่น้องชาวเลที่เกาะสุรินทร์เขาก็ไม่มีข้าวกินเหมือนกัน พี่น้องชาวเลที่พังงาก็เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าชาวเลในพังงาช่วยกันทำปลา ระดมปลาแห้งเพื่อจะแลกข้าวเอาไปช่วยพี่น้องเกาะสุรินทร์” ไมตรีว่า

ย้อนไปราวต้นปี 2562 ชาวเลมอแกนบนเกาะสุรินทร์ ได้ประสบกับเหตุเพลิงไหม้ชุมชนครั้งใหญ่ แรงกายและแรงทรัพย์ของชุมชนจึงหมดไปกับการซ่อมแซมบ้านเรือน และฟื้นคืนวิถีชีวิต เมื่อล่วงเข้าต้นปี 2563 ปัญหา COVID-19 ก็พัดกระหน่ำชาวมอแกนเป็นระลอกที่สอง

“พี่น้องเกาะสุรินทร์เป็นชุมชนชาวเลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยาน เขาจึงไม่สามารถหาปลาในเขตอุทยานได้ หาได้แค่กินเองในครอบครัว 1-2 ตัว แต่จับปลาไปขายไม่ได้ หรือจับมาทำปลาเค็มมาแลกด้วยก็ไม่ได้ เขาจึงไม่มีรายได้ และด้วยความที่เกาะสุรินทร์อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งราว 40 กิโลเมตร เขาจึงไม่สามารถออกจากเกาะมาได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่มีข้าวกินเหมือนกัน”

แน่นอนว่า บนสำรับอาหารนั้นปลาทะเลมีไม่ขาด แต่ข้าวสารกลับกลายเป็นของหายาก ชาวประมงในจังหวัดพังงา นำทีมโดยชุมชนมอแกลนบ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า ได้เป็นกำลังหลักในการประสานความร่วมมือของชาวประมงในชุมชนต่างๆ เพื่อทำการระดมปลามาแปรรูป และนำไปแลกข้าวส่งต่อให้ชาวเลบนเกาะสุรินทร์

“มันคือข้อท้าทายของชาวเลนะ เช่น ชาวเลไม่เคยทำปลาเยอะๆ หรือพี่น้องบนดอยขนข้าวลงมาก็ไม่รู้หรอกว่าจะแลกยังไง คุ้มไหม ก็ให้มาด้วยใจ เราจะต้องข้ามผ่านไปให้ได้ ถ้าข้ามไม่ได้ การแลกก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะหัวใจของโปรเจ็คต์คือความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ความท้าทายคือ แล้วทั้งสองฝ่ายจะพึงพอใจกันหรือไม่

“ซึ่งพอผ่านการแลกเปลี่ยนเที่ยวแรกไปแล้ว ก็เกิดการแลกเปลี่ยนเที่ยวต่อไปขึ้น นั่นแปลว่า เขาพึงพอใจกันและกัน”

ประโยคข้างต้นกล่าวโดย วิทวัส เทพสง ชาวเลชุมชนทับตะวัน หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของคนทำงานเพื่อแปรรูปปลา และนำไปแลกข้าวเพื่อกระจายต่อไปยังกลุ่มชาวเลที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤติครั้งนี้

“ประมาณ 1 เดือนแล้วกับการทำงานของโครงการข้าวแลกปลา เราเห็นมิติของความร่วมมือที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ เอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน และสอง เห็นมิติของวัฒนธรรมที่สร้างความยั่งยืนได้ในสภาวะที่สังคมวิกฤติ คือเรื่องของการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน”

วิทวัส เทพสง – ชาวเลชุมชนทับตะวัน

ข้าว 5 กิโลกรัม ต่อปลา 1 กิโลกรัม คืออัตราการแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ในช่วงแรก ทว่าในความเป็นจริง อัตราข้าวจากชาวนายโสธรที่ถูกส่งมายังชาวเลนั้นมีปริมาณถึง 7 ตัน ต่อจำนวนปลา 1 ตัน

“การแลกเปลี่ยนกันนั้น ไม่ใช่การแลกกันอย่างเดียว แม้เราจะตกลงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ แต่ในความจริงแล้วปริมาณมันเกินจากที่วางไว้ เขาให้ข้าวเพิ่มมาเป็นตันๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้อง เช่น พี่น้องชาวเกาะสุรินทร์ที่อดอยาก นี่คือการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน” วิทวัสว่า

หลังดำเนินการมาร่วมเดือน วิทวัสถอดบทเรียนให้เราฟังเป็นข้อๆ ต่อสถานการณ์ COVID-19 และการร่วมพลังของประชาชนที่ไม่ยอมให้เพื่อนพ้องคนใดหรือกลุ่มใด ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

หนึ่ง คนคำนึงถึงธรรมชาติมากขึ้น มองเห็นธรรมชาติและแหล่งทรัพยากร ว่ามีความสำคัญมากขึ้น ชาวบ้านจะตื่นตัวถึงแผนพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่ามันยั่งยืนหรือไม่ พอเกิดวิกฤติเช่นนี้ มันช่วยอะไรได้บ้าง

สองความสัมพันธ์ของคนในประเทศไทยเรานั้นจะมีลักษณะของความเห็นอกเห็นใจกัน มีพลังของภาคประชาชนเกิดขึ้นมากมาย และพลังนั้นนำมาสู่การช่วยเหลือตัวเองในหลายๆ เรื่อง

สามในยามวิกฤติ เราจะเห็นศักยภาพความเป็นผู้นำในทุกระดับ และเห็นสภาพความเป็นจริงของประเทศว่ากำลังเป็นอย่างไร และจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ศักยภาพของประเทศเรามากน้อยเพียงใด ทั้งระบบ ทั้งคน

สี่ เรื่องของรัฐสวัสดิการ มันคือบทพิสูจน์ว่าประเทศของเรามีศักยภาพมากน้อยเพียงใด และมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังบ้าง

ชาวเลมีข้าวชาวนามีปลา

“เราเอาความเดือดร้อนเป็นตัวตั้ง แล้วทำเลย” ไมตรีว่า

เริ่มต้นที่ปากท้องของชาวเลราไวย์ ขยายไปยัง 5 ชุมชนชาวเลในจังหวัดภูเก็ต อีก 7 ชุมชนในจังหวัดพังงา และ 3 ชุมชนในจังหวัดระนอง ส่วนในภาคของชาวนา ไม่ว่าจะข้าวชาวดอย ชาวนาสุรินทร์ ชาวนาสุพรรณ สายธารแห่งการแบ่งปันหลั่งไหลเชื่อมโยงกันหลายสาย

ไมตรีกล่าวเสียงหนักแน่นว่า ในยามวิกฤตินั้น พลังของประชาชนสำคัญที่สุด

“การที่หน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมมือ ผมคิดว่าเมื่อประชาชนคิดที่จะทำ เขาสนับสนุน นั่นถูกต้องแล้ว มันคือบทบาทที่เขาต้องทำอยู่แล้วเพื่อให้ประชาชนอยู่รอด”

วิกฤติเดือนแรกยังพอทำเนา ข้าวยังมีในหม้อ เงินยังพอเหลือติดกระเป๋า ล่วงเข้าเดือนที่สองสิของจริง วิทวัสเล่าว่า ชาวเลซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดพังงา ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ ซ้ำร้าย ความเปราะบางเดิมที่มีอยู่ก็ยังคาราคาซัง COVID-19 จึงเป็นวิกฤติซ้ำรอยวิกฤติเดิม

“ผลกระทบจาก COVID-19 มันคือตัวกระหน่ำซ้ำเติมความเปราะบางที่เรามีอยู่เดิม เรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกินในทะเล บนเขา พื้นที่ทางจิตวิญญาณ อะไรเหล่ามันคือปัญหาที่ยังคาอยู่แล้ว แต่พอ COVID-19 เข้ามา มันก็เหมือนการซ้ำเติม”

บทเรียนจากคลื่นสึนามิสู่ปฏิบัติการโต้คลื่นไวรัส

“เรามีประสบการณ์การจัดการภาวะวิกฤติขนาดใหญ่มาก่อน รวมไปถึงการจัดการภาวะวิกฤติในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เราเห็นบทเรียนมาเยอะว่าถ้าเราไม่ตั้งหลักโดยมีชุมชนเป็นหลัก ไม่ตั้งหลักให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นคนจัดการตัวเอง ก็ไม่มีทางทำอะไรได้ยั่งยืนหรอก” ไมตรีว่า

COVID-19 ไม่ใช่วิกฤติใหญ่ครั้งแรกที่พวกเขาเผชิญ แต่การทำงานและกระบวนการทางความคิดที่เราไล่เรียงมาข้างต้น คือการเรียนรู้และเติบโตจากประสบการณ์จริง เมื่อครั้งที่พวกเขาเป็นผู้ประสบภัยสึนามิ

ผ่านมาเกือบสองทศวรรษ ประชาชน ประชาสังคม และผู้คนแถบอันดามัน ได้บทเรียนชิ้นใหญ่ที่ร่วมกันถอดบทเรียนกันมานับครั้งไม่ถ้วน

“บทเรียนสำคัญคือเราต้องให้พี่น้องประชาชนเตรียมพร้อมและมีการตั้งหลักในทุกพื้นที่ มันจะเริ่มต้นจากเล็กไปใหญ่เอง มันจะต้องเริ่มให้เกิดผลและขยายไปใหญ่เอง เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแป๊บเดียว นี่คือโอกาสสำคัญของเราเลย” ไมตรีอธิบาย

ไมตรีและวิทวัส ถอดกระบวนการจัดการและรับมือวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างน้อย 5 ข้อ

หนึ่ง ต้องตีความให้ประชาชนเข้าใจว่า COVID-19 คือภัยพิบัติ ถ้าทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่านี่คือภัยพิบัติ เราก็สามารถทำได้ทุกอย่างเพราะพวกเขาเคยผ่านภัยพิบัติมาแล้ว แต่ถ้าเขาไม่รู้ว่ามันคือภัยพิบัติ และคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัดลอยไปลอยมา เราก็ยังจัดการอะไรจริงจังไม่ได้

“พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บัญญัติว่าโรคระบาดคือภัยพิบัติรูปแบบหนึ่ง แต่ช่วงแรกของการระบาดนั้น ประเทศเรานิยามไม่ถึงคำว่าภัยพิบัติ ทำให้อำนาจการบริหารจัดการมาไม่ถึงท้องถิ่น สำคัญคือต้องตีความให้ชัดก่อน”

สอง การตั้งระบบจัดทำข้อมูล และค้นหาศักยภาพของชุมชนว่ามีมากน้อยขนาดไหน สึนามิคือบทเรียนสำคัญของการทำงานบนฐานข้อมูลที่เป็นจริง

สาม ตั้งศูนย์กลางในการจัดการ ที่จะทำให้คนรู้ว่าต้องวิ่งไปที่ไหน เอาหน้ากากอนามัยที่จุดใด หาความรู้อย่างไร กลไกนี้ถูกใช้ตั้งแต่ครั้งสึนามิ และทำให้เกิดการจัดการที่รวดเร็ว ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีจุดตรงกลาง ชาวบ้านจะสะเปะสะปะ และคิดไปต่างๆ นานา

“ลองนึกดูนะว่า ช่วงสึนามิ มีเสียงหวอดังเตือนขึ้น ชาวบ้านวิ่งกันจนโดนรถทับตาย คืออย่างนั้นเลย ชาวบ้านจะแตกตื่น กลัว หรือพวกที่ไม่กลัวก็ไม่กลัว เพราะเขาไม่เข้าใจและไม่รู้จะต้องไปที่ไหน” วิทวัสเสริมว่า บทเรียนดังกล่าวแม้ต่างสถานการณ์ แต่กลับสามารถอธิบายสภาวะความปั่นป่วนได้เป็นอย่างดี

สี่ การตั้งด่านคัดกรอง และตั้งกลไกที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น จัดเจ้าหน้าที่จราจร ฝ่ายจัดการคน ฝ่ายเก็บข้อมูล อสม. ดังเช่นที่หมู่บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา หนึ่งในชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิครั้งใหญ่ เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 ด่านคัดกรองจึงถูกจัดตั้งก่อนการประกาศมาตรการจัดการของรัฐ

ห้า ต้องดูว่ามีช่องทางไหนที่จะมีงบประมาณมาช่วยอาสาสมัคร รวมถึงช่วยในการสำรวจข้อมูลอย่างจริงจังกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เช่น เรื่องของสุขภาพ เรื่องรายได้ เรื่องของอาชีพ ว่าได้รับผลกระทบอะไรบ้างจาก COVID-19 นำข้อมูลมาประเมินและนำเสนอผ่านกลไกของรัฐให้เกิดความช่วยเหลือ

“โครงการข้าวแลกปลานั้น เราต้องการทำเพื่อความอยู่รอด ทำไปก่อน เรียนรู้และแก้ไข ซึ่งพอกระแสออกมาดี เราจึงต้องคิดสเต็ปต่อไปเพราะโควิดมันไม่ไปง่ายๆ”

นอกจากแลกเปลี่ยนแบ่งปันแล้ว ไมตรีได้เล่าถึงก้าวต่อไปของพวกเขาคือ ‘ปรับตัว’ โดยมีหัวใจสำคัญคือ ‘สร้างแหล่งความมั่นคงทางอาหาร’ ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตอาหาร แปรรูป ปลูกพืชพรรณ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างกลไกตลาดออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันในระยะยาว สร้างกระบวนการที่ผู้บริโภคสามารถต่อตรงไปยังผู้ผลิต พัฒนาระบบขนส่งสินค้า

“ถ้าไม่คิดเรื่องนี้อยู่ไม่ได้ ที่ผ่านมาคนพังงาซื้อเขากินมาตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าคนไม่ลดรายได้และซื้อตลอด ไม่ปรับวิถีชีวิตในสังคมใหม่ที่จะเกิดขึ้นก็อยู่ไม่ได้หรอก เราต้องลดรายจ่ายและผลิตอาหารเองให้ได้มากที่สุด”

ไม่ใช่เพียงแค่คิด แต่พวกเขากำลังลงมือทำภายใต้ทักษะที่ตนมี และเทคโนโลยีที่ต้องเรียนรู้ต่อ ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น

“ผลสุดท้ายคือ เราไม่ได้หวังพึ่งรัฐหรือรอให้ใครมาช่วยตลอด แต่ยึดหลักว่า ต้องให้ประชาชนเป็นคนลุกขึ้นมาจัดการ ผู้นำหรือรัฐมีหน้าที่หนุนเสริม หรือไปจุดประกาย สร้างตัวอย่างจากจุดเล็กๆ ในพื้นที่ แล้วจึงจะเกิดการเรียนรู้และการขยับขยายออกไป เพราะฉะนั้น การที่ใครก็ตามไปทำอะไรให้ใคร ไม่มีทางที่จะยั่งยืน” ไมตรีว่า